ประเพณีโบราณ

บุญฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ประเพณีโบราณที่น่าสนใจ

หากจะลองศึกษางานบุญที่น่าสนใจตามแบบฉบับพื้นบ้านหรือเฉพาะท้องถิ่นนั้น วันนี้เรามีเรื่องงานบุญที่น่าจะแปลกใหม่ สำหรับใครหลายคนมาฝากกันครับ กับประเพณี “บุญฮีตสิบสองคลองสิบสี่” จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น…..เราไปชมกันเล้ยย!!

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ คืออะไร?

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานบ้านเฮาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อและการดํารงชีวิตทางเกษตรกรรมซึ่งชาวอีสาน ยึดถือปฏิบัติกัน มาแต่โบราณ มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดสิริมงคลในการดําเนินชีวิต เรียกอย่างท้องถิ่น ว่างานบุญ ชาวอีสานให้ความสําคัญกับ ประเพณีฮีตสิบสองเป็นอย่างมากและยึดถือปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนับเป็นเอกลักษณ์ของ ชาวอีสาน อย่างแท้จริง คําว่า “ฮีตสิบสอง”มาจากคําว่า “ฮีต” อันหมายถึงจารีต การปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี “สิบสอง” คือประเพณีที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน

เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม

เดือนยี่ – บุญคูณลาน

เดือนสาม – บุญข้าวจี่

เดือนสี่ – บุญพระเวส หรือ บุญผะเหวด

เดือนห้า – บุญฮดสรง หรือ บุญสงกรานต์

เดือนหก – บุญบั้งไฟ

เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ

เดือนแปด – บุญเข้าพรรษา

เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน

เดือนสิบ – บุญข้าวสาก

เดือนสิบเอ็ด – บุญออกพรรษา

เดือนสิบสอง – บุญกฐิน

คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้

1. เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง

2. เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์

3. เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน

4. เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

พิธีในแต่ลเดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เป็นพิธีกรรมที่พระภิกษุหาทางออกจากอาบัติ พระภิกษุเป็น ผู้ประกอบพิธี พระภิกษุจะเข้าอยู่ในเขตจำกัด แล้วรักษากายและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ พร้อมทั้งถือว่า “เข้ากรรม” เป็นการทดแทนคุณมารดา เพราะว่าเมื่อมารดาชาวอีสานคลอดบุตรต้องอยู่กรรม หรืออยู่ไฟ บางท้องถิ่นเรียกการเข้ากรรมว่า “การเข้าปริวาสกรรม” ใช้เวลาทั้งสิ้น ๙ คืน ปัจจุบันการทำบุญเข้ากรรม จะนิยมทำที่วัด โดยจะมีการกำหนดวันทำบุญเข้ากรรม ตามความพร้อมของแต่ละท้องที่

เดือนยี่ บุญคูนลาน หลังจากนวดข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกองเมล็ดข้าวไว้ในลานนวดข้าว เป็นรูปกรวยคว่ำ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “กุ้มข้าว” ก่อนจะนำข้าวขึ้นเก็บไว้ในยุ้งฉาง ชาวบ้านจะทำบุญขวัญข้าว โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็นและถวายภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เลี้ยงอาหารเพื่อนบ้านที่ไปร่วมพิธี ต่อจากนั้นจึงนำน้ำมนต์ไปพรมกองข้าวและ ที่นา เพื่อให้เจ้าของนาจะได้อยู่อย่างเป็นสุข ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ปีต่อไปข้าวกล้านาจะงอกงามและได้ผลดี ต่อจากนั้นจึงขนข้าวใส่ยุ้งฉาง เจ้าของนา บางคนอาจจะประกอบพิธีสู่ขวัญเล้า หรือยุ้งข้าวเพิ่มขึ้นอีก บางครั้งไม่สามารถทำบุญคูณลานได้เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวไม่ดี

เดือนสาม บุญข้าวจี่ ตรงกับช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้าน นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อน ให้มีขนาดประมาณไข่เป็ดฟองใหญ่ ทาเกลือแล้วเอาไม้เสียบอย่างไฟพลิกกลับไปมาจนผิวข้าวจี่กลายเป็นสีเหลือง ชาวบ้านต่างพากันนำข้าวจี่ไปวัด หลังจากที่พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วต่อจากนั้นจึงตักบาตรด้วยข้าวจี่ กล่าวคำถวายข้าวจี่ แล้วนำข้าวจี่ถวายพระพร้อมกับอาหารอื่น ปัจจุบันได้รวมบุญมาฆบูชาไว้ในบุญข้าวจี่ด้วย

เดือนสี่ บุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ การทำบุญผะเหวดเป็นการประสานความร่วมมือกับหมู่บ้านจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานด้วย กิจกรรมหลักของบุญผะเหวด คือ การนิมนต์พระอุปคุตมาประดิษฐานที่หอพระอุปคุตในตอนเช้า ตอนบ่ายมีพิธีอัญเชิญแห่พระเวสสันดร และพระนางมัทรีเข้าวัด ช่วงค่ำพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ กลางคืนเทศน์เรื่อง พระมาลัยหมื่นพระมาลัยแสน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระมาลัยไปเยี่ยมนรก ต่อจากนั้นจึงเทศน์สังกาศ วันที่สองจะมีเทศน์มหาชาติตลอดวัน เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาว่าการเทศน์มหาชาตินั้นจะต้องเทศน์ให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ภายในวันเดียว จึงจะได้อานิสงส์มาก บางท้องถิ่นจะมีการแห่ข้าวพันก้อน ก่อนฟังเทศน์มหาชาติ ในวันที่สอง ซึ่งจะ มีการทำพิธีแห่ข้าวพันก้อน ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. โดยชาวบ้านจะมีผู้นำทำพิธีแต่งชุดขาว แห่ข้าวไปตามซุ้มธงทิว จำนวน ๘ ทิศ รอบโบสถ์ โดยเดินเวียนทั้งหมด ๓ รอบ

เดือนห้า บุญสงกรานต์ เป็นทำบุญเฉลิมฉลองปีใหม่ตามคติโบราณ ซึ่งจัดให้มีพร้อมกันทั่วประเทศ โดยทำบุญสงกรานต์ในวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน กิจกรรมหลักของบุญสงกรานต์ คือการสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด สรงน้ำคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวเล่นสาดน้ำกัน (หรือนิยมเรียกว่า “ไปเนา”) ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย บูชาพระเจดีย์ทราย และแห่ข้าวพันก้อน ในเมืองจะทำบุญสงกรานต์เพียง ๓ วัน คือวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ส่วนในชนบทจะสรงน้ำพระพุทธรูปต่อไปอีกจนถึงวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเสร็จสิ้นพิธีสงกรานต์ และก่อนที่พิธีสงกรานต์จะสิ้นลง ชาวบ้านจะทำพิธีแห่ดอกไม้รอบบ้าน ก่อพระเจดีย์ทรายไว้ตามทางสามแพร่งรอบหมู่บ้าน ไปรวมกัน เรียกว่า ค้ำโพธิ์ค้ำไฮ และ ปักธงเฉลียงไว้ตามกองทราย

เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นพิธีกรรมขอฝนจากแถน โดยทำพิธีบูชาอารักษ์หลักเมือง เพื่อให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ให้ชาวบ้านได้ทำนา อย่างเต็มที่ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข กิจกรรมหลักของบุญบั้งไฟ การแห่บั้งไฟ การประกวดและแข่งขันบั้งไฟ การเล่นกลองตุ้ม การเส็งกลองกิ่ง การหดสรงพระภิกษุหรือสามเณรที่เห็นว่าเป็นผู้มีคุณธรรม การบวชนาค วันสุดท้ายเป็นการจุดบั้งไฟ บางพื้นที่จะทำบุญบั้งไฟ ทุก ๆ ๓ ปี ปีใดไม่ทำบุญบั้งไฟก็จะทำเฉพาะบุญเดือนหก คือ บุญวันวิสาขบูชา

เดือนเจ็ด บุญซำฮะ ทำบุญชำฮะ ซำฮะ หมายความว่า ชำระ หรือล้าง เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคลให้ออกจากหมู่บ้าน เพื่อชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากภัยต่าง ๆ โดยชาวบ้านจะสร้างประรำพิธีขึ้น ในหมู่บ้าน ผูกต้นกล้วยติดกับเสาประรำทั้งสี่มุมจัดทำอาสนสงฆ์ เตรียมเครื่องบูชาพระรัตนตรัย ด้ายสายสิญจน์ น้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน (ข้อมือ) เครื่องไทยทาน กรวด ทราย หลักไม้ไผ่ ๘ หลัก ตอนเย็นนิมนต์พระมาสวดมนต์ ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า ทำพิธี ๓ คืน เช้าวันสุดท้ายถวายสังฆทาน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ คนเฒ่าคนแก่ผูกแขนให้ชาวบ้าน หว่านกรวดทรายให้ทั่วหมู่บ้าน แล้วขึงด้ายสายสิญจน์ให้รอบหมู่บ้าน เอาหลัก ๘ ทิศไปตอกไว้ตามทิศทั้งแปดของหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนำสิ่งปฏิกูล ไปทิ้งนอกบ้านบางแห่งจะทำบุญซำฮะในเดือนสาม โดยเลือกวันขึ้น ๑๔- ๑๕ ค่ำ

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา ซึ่งเป็นพิธีที่ให้พระภิกษุ และสามเณรอยู่ประจำที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน คือเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำบุญเข้าพรรษาถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันอาสาฬหบูชาโดยชาวบ้านจะถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล พร้อมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นตลอดทั้ง ๓ เดือน แด่พระสงฆ์ ได้แก่ ไตรจีวร ยารักษาโรค เทียน ตะเกียง น้ำมัน นอกจากนั้นยังมีการถวายต้นเทียน บางท้องที่นำขี้ผึ้งมาหล่อเป็น ต้นเทียนขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งลวดลายที่สวยงาม แล้วแห่ไปถวายพระ ที่วัด อาจจะมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนหรือปัจจัยด้วย หลังจากนั้นพระสงฆ์จะเทศนา ๑ กัณฑ์ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้จัดประเพณี ไหว้พระ ๙ วัด เสริมอำนาจบารมีที่อำนาจเจริญ

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติมิตร ที่ล่วงลับไปแล้ว ข้าวประดับดิน คือ ข้าวและอาหารหวานคาว หมากพลู และบุหรี่ ชาวบ้านจะนำสิ่งของดังกล่าวใส่กระทงแล้วนำไปวางตามที่ต่างๆ ในเขต ลานวัด เช่น ตามรั้ว ต้นไม้ หรือตามพื้นดิน การทำบุญข้าวประดับดินจะจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ โดยชาวบ้านจะลุกขึ้นแต่เช้ามืดประมาณ ๓ – ๕ นาฬิกา แล้วนำกระทงข้าวประดับดินไปวางไว้ตามที่เห็นว่าสมควร เมื่อวางกระทงเสร็จแล้วจะจุดธูปเทียนบอกกล่าวให้เปรตหรือผู้ล่างลับไปแล้วมารับส่วนบุญ การนำกระทงไปวางที่ต่างๆต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่งเช้า เพราะเชื่อว่าเปรตจะท่องเที่ยวเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น เมื่อถึงเวลารุ่งเช้าก็จะทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์สมาทานศีล ฟังเทศน์ และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับ

เดือนสิบ บุญข้าวสาก ข้าวสาก คือ สลากภัต เป็นการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์โดยวิธี จับสลาก เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ซึ่งเคยเป็นญาติผู้รักใคร่นับถือ โดยจะจัดงานขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ตอนเช้ามืดของวันงานชาวบ้านจะเตรียมอาหารที่จะทำเป็นสลากภัตแล้วนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระและสามเณร พอใกล้เวลาเพลจึงนำอาหารที่เตรียมไว้สำหรับทำเป็นสลากภัตไปวัด ชาวบ้านจะนำสลากที่มีชื่อพระสงฆ์และสามเณร ไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น นำข้าวสลากภัตไปวางไว้ตามบริเวณวัด แล้วจุดธูปเทียนบอกกล่าวให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับอาหาร และผลบุญที่อุทิศไปให้ มีการฟังเทศน์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยงผีตาแฮก ณ ที่นาของตน

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา ชาวบ้านจะจัดงานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้ามีการตักบาตรหรือตักบาตรเทโว ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสามเณร บางท้องที่มีการกวนข้าวทิพย์ถวายเป็นพิเศษ มีการรับศีล ฟังเทศน์ ตอนค่ำมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน ในชนบทจะเอารวงข้าวที่เพิ่งผลิ เรียกว่า “ข้าวน้ำนม” ทำเป็นดอกไม้บูชา กลางคืน มีมหรสพ ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เช่น อำเภอชานุมาน จะจัดให้มีการแข่งเรือ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า การส่วงเฮือ นอกจากนี้ประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนิยมมาร่วมแข่งเรือในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

เดือนสิบสอง บุญกฐิน การทำบุญกฐิน คือการถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ที่ผ่านการจำพรรษาแล้ว มีระยะเวลากฐิน หรือกรานกฐิน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในการทำบุญกฐินนั้นเจ้าภาพจะต้องจองวัด และกำหนดวัดทอดกฐินไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเวลาเข้าพรรษา พร้อมทั้งเตรียมผ้าไตรจีวร อัฐบริขารอื่นๆ และเครื่องไทยทาน เจ้าภาพจะแจ้งข่าวการทำบุญกฐินให้ญาติมิตรทราบ กลางคืนก่อนวันทอดกฐินจะมีมหรสพฉลององค์กฐินอย่างสนุกสนาน วันรุ่งขึ้นก็แห่องค์กฐินไปวัด แห่เวียนประทักษิณหรือเวียนขวารอบโบสถ์ สามรอบ แล้วจึงทำพิธีถวายผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารแด่พระสงฆ์ะเดือน

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซด์ https://www.m-culture.go.th  สำหรับเรื่องราวความเป็นมาของประเพณี “บุญฮีตสิบสองคลองสิบสี่” ที่เป็นประเพณีโบราณที่น่าสนใจนี้ด้วยครับ

Scroll to Top